ผลกระทบและผลสืบเนื่อง ของ พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532)

อ่าวไทย

พายุเกย์เป็นพายุที่ทรงพลังที่สุดที่มีผลต่ออ่าวไทยในรอบกว่า 35 ปี พายุเกย์ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำสูง 6–11 เมตร (20–36 ฟุต) ที่ทำให้เรือหลายลำในภูมิภาคไม่ทันตั้งตัว[12] มีรายงานเรืออย่างน้อย 16 ลำสาบสูญในวันที่ 5 พฤศจิกายน รวมทั้งเรือขุดเจาะน้ำมันขนาด 106 เมตร ชื่อ ซีเครสต์ (Seacrest) ของบริษัทยูโนแคลคอร์ปอเรชัน[13] ผู้รอดชีวิตจากเรือลำดังกล่าวบอกว่า เรือไม่ได้รับคำเตือนเกี่ยวกับพายุไต้ฝุ่นที่กำลังก่อตัว[14] เมื่อลูกเรือทั้งหมดเกือบจะสละเรือ ตาพายุของพายุเกย์เคลื่อนผ่านพอดี เกิดลมพัดแปรปรวนอย่างรุนแรงและเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เรือไม่เสถียรแม้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในการผลิต

เรือพลิกคว่ำอย่างฉับพลันพร้อมกับลูกเรือทั้ง 97 คนในช่วงดึกของคืนวันที่ 3 พฤศจิกายน ก่อนมีการเตรียมเรือชูชีพแม้แต่ลำเดียว[13][14] ความพยายามกู้ภัยเบื้องต้นในวันที่ 4 พฤศจิกายนถูกขัดขวางจากทะเลที่มีคลื่นลมแรง[15] สองวันให้หลังเรืออับปาง เรือกู้ภัยสี่ลำและเฮลิคอปเตอร์สองลำในบริเวณออกค้นหาผู้รอดชีวิต[13] มีผู้ได้รับการช่วยเหลือจากซากเรือสี่คนในวันที่ 6 พฤศจิกายน มีการส่งตัวนักประดาน้ำจากกองทัพเรือไทเพื่อค้นหาผู้ที่ติดอยู่ในซากเรือ[16] ในจำนวนลูกเรือทั้งหมด มีผู้รอดชีวิตเพียง 6 คน และกู้ศพได้ 25 ศพ และสันนิษฐานว่าลูกเรือที่เหลืออีก 66 คนเสียชีวิตแล้ว[14][17] ความเสียหายจากเรือซีเครสต์อับปางคิดรวม 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[18] เรือบรรทุกสินค้าและเรือประมงอีก 20 ลำอับปางระหว่างเกิดพายุ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 140 ราย[19]

ประเทศไทย

ผลกระทบในประเทศไทย[20]
ผู้ประสบภัยและความเสียหาย
จังหวัดเสียชีวิตสูญหายความเสียหาย
บาท[nb 6]ดอลลาร์สหรัฐ
ชุมพร446011,257,265,254439,736,924
ประจวบคีรีขันธ์1984199,936,0007,810,000
ระนอง21090,880,0003,550,000
ปัตตานี20N/AN/A
สุราษฎร์ธานี66071,123,2002,778,250
ระยอง35032,230,9891,259,023
เพชรบุรี1022,502879
ตราด001,613,00563,008
นอกชายฝั่ง184031,000,0131,210,938
เรือซีเครสต์9101,024,000,00040,000,000
ทั้งหมด83313412,708,070,963496,511,534
ต้นไม้หักโค่นและบ้านเรือนได้รับความเสียหายในจังหวัดชุมพร

พายุไต้ฝุ่นเกย์สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่หลายจังหวัดของไทย เป็นพายุที่พัดเข้าประเทศไทยโดยมีกำลังแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน[12] พื้นที่ระหว่างจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดระยองได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากฝนตกหนัก ลมแรง และคลื่นสูง[21] ปริมาณน้ำฝนสูงสุดวัดได้ 194 มิลลิเมตร (7.64 นิ้ว) ที่จังหวัดชุมพรขณะพายุเคลื่อนผ่าน[22] เกิดการรบกวนการสื่อสารและไฟฟ้าเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ทางใต้ของกรุงเทพมหานคร และบ้านเรือนจำนวนมากขาดไฟฟ้านานหลายสัปดาห์[23] ลมที่พัดแรงถอนโคนต้นไม้ เสาไฟฟ้าและพัดบ้านไม้ที่สร้างบนเสาค้ำล้ม[24] น้ำป่าที่เกิดจากพายุสร้างความเสียหายหรือทำลายบ้านเรือนหลายพันหลัง และเป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 365 คน[25] ซึ่งมีปัจจัยหนุนจากการทำลายป่า[20] เมืองและหมู่บ้านหลายแห่งทั่วจังหวัดชุมพรถูกทำลายล้าง หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ รายงายว่าหมู่บ้านที่ถูกทำลายลงแห่งหนึ่งนั้น "ดูเหมือนถูกทิ้งระเบิด"[26] มีรายงานว่าทั้งอำเภอหลายอำเภอในจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์นั้น "ราบเป็นหน้ากลอง"[24] พายุไต้ฝุ่นพัดทำลายโรงเรียนไม้หลายแห่งในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี พายุพัดหน้าต่างและประตูของสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่อยู่ใกล้เส้นทางหลุดออกมา และสิ่งก่อสร้างหลายชั้นบางแห่งถูกพัดเอาชั้นบนหายไป ส่วนโรงเรียนที่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็กได้รับความเสียหายเล็กน้อย[27] ถนนกว่า 1,000 เส้น และสะพาน 194 แห่งได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย[20] พื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตรมีน้ำท่วม[28] ในแผ่นดินมีผู้เสียชีวิตจากพายุ 558 คน และอีก 44 คนเสียชีวิตนอกชายฝั่งเล็กน้อย[20] ทั่วประเทศไทย มีบ้านเรือนเสียหายหรือถูกทำลายประมาณ 47,000 หลัง ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 200,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 153,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[20][28] สร้างความเสียหายทางการเงินถึง 1.1 หมื่นล้านบาท (456.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้พายุเกย์เป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ[29]

ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังพายุผ่านไป รัฐบาลเริ่มแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ[23] แม้ภาครัฐพยายามเร่งช่วยเหลือ แต่ประชาชนกว่า 2,500 คนจากอำเภอปะทิวและอำเภอท่าแซะเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือเพิ่มเติมและเข้มข้นมากขึ้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน การประท้วงดังกล่าวยุติลงในเวลาไม่นาน[30] หลังมีคำวิจารณ์พอสมควรว่ารัฐมองข้ามผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น ทำให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เลื่อนการเยือนสหรัฐไปก่อนเพื่อควบคุมดูแลความพยายามบรรเทาทุกข์[25] วันที่ 15 พฤศจิกายน สหรัฐให้คำมั่นบริจาคเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือปฏิบัติการฟื้นฟู ในขณะนั้นการเชื่อมต่อโทรศัพท์จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการซ่อมแซมเสร็จ อย่างไรก็ดี พื้นที่ใต้กว่านั้นยังขาดการเชื่อมต่อโทรศัพท์อยู่ มีการนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปติดตั้งที่โรงพยาบาลและสถานที่ราชการที่ยังเปิดทำการอยู่ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชุมพรส่วนใหญ่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์แล้ว เมื่อความเสียหายปรากฏชัดเจนขึ้น จึงมีการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศถึงองค์การบรรเทาภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติในวันที่ 17 พฤศจิกายน เมื่อมีการประกาศร้องขอ ประเทศหกประเทศได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศแคนาดา ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ และสหรัฐ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงินช่วยเหลือรวมเกือบ 510,000 ดอลลาร์สหรัฐในกองทุนรวม[20][23] เกษตรกรรมทั่วทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบอย่างมากในระยะยาวจากพายุไต้ฝุ่นเช่นกัน ในช่วงสี่ปีหลังจากพายุเกย์ ที่ดินที่ใช้ในการทำสวนผลไม้ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ลดลงจากร้อยละ 33.32 เหลือร้อยละ 30.53 นอกจากนี้ พื้นที่นาข้าวยังลดลงจากร้อยละ 22.96 เหลือร้อยละ 13.03[31]

จากการสำรวจหลังพายุ (post-storm survey) พบว่าโรงเรียนที่เสียหายรุนแรงส่วนใหญ่มีการก่อสร้างอย่างไม่เหมาะสม และชั้นบนไม่ได้รับการออกแบบมาให้ทนความเร็วลมระดับพายุไต้ฝุ่น จากหลักเกณฑ์การสร้างอาคารในประเทศไทย มีข้อบังคับให้สิ่งก่อสร้างสามารถรับความดันจากลมได้ถึง 120 กิโลกรัมแรงต่อตารางเมตร (kgf/m2) หลายปีหลังพายุ วิศวกรดำเนินการศึกษาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากพายุเพื่อกำหนดวิธีการสร้างบูรณะสิ่งก่อสร้างในประเทศอย่างดีที่สุด เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลายจำนวนมากสร้างจากไม้ จึงมีการแนะนำให้ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กแทน อาคารใหม่อาจมีอายุได้ถึง 50 ปีหากก่อสร้างอย่างเหมาะสม ส่วนอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานจะต้องได้รับการซ่อมแซมภายในเวลาห้าปี[27]

ประเทศอินเดีย

หลังพายุเคลื่อนตัวข้ามคาบสมุทรมลายู จากนั้นเคลื่อนผ่านหมู่เกาะอันดามันในวันที่ 6 พฤศจิกายน มีการสั่งยับยั้งการจราจรทางอากาศและทางน้ำในบริเวณนี้เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน ลมที่พัดเร็วกว่า 120 กม./ชม. พัดเข้าถล่มเกาะนอร์ทอันดามัน ทำให้อาคารพังถล่มไปสองหลัง[8] ไม่กี่วันก่อนพายุเกย์พัดขึ้นฝั่ง ทางการรัฐอานธรประเทศเริ่มอพยพประชาชนราว 50,000 คนตามแนวชายฝั่งและสะสมสิ่งของบรรเทาภัยพิบัติ มีการบังคับให้ประชาชนบางส่วนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยในอำเภอวิสาขปัตนัมและอำเภอศรีกากุล[32][33] นักอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นเตือนว่าพายุนี้เทียบได้กับพายุไซโคลนที่รัฐอานธรประเทศ พ.ศ. 2520 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 10,000 คน[34] เมื่อพายุไต้ฝุ่นเกย์พัดถล่มชายฝั่งทางตอนใต้ของรัฐอานธรประเทศ พายุไต้ฝุ่นเกย์มีลมกระโชกขึ้นมีความเร็วลมที่ประมาณไว้ถึง 320 กม./ชม.[35] ตลอดแนวชายฝั่ง น้ำขึ้นจากพายุสูง 3.5 เมตร (11 ฟุต) พัดเข้าท่วมแผ่นดินเข้าไปลึกมากที่สุด 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง และพัดพาสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งไปด้วย[10][36]

โครงเหล็กของหอถ่ายทอดสัญญาณคลื่นไมโครเวฟสูง 91 เมตรที่อยู่นอกนอกเมืองกาวาลีประมาณ 20 กิโลเมตรพังถล่มลงมาเนื่องจากต้องเผชิญกับความเร็วลมถึง 142 กม./ชม.[37] การขนส่งและการสื่อสารทั่วทั้งภูมภาคถูกรบกวน บ้านเรือน 20,000 หลังถูกทำลายหรือได้รับความเสียหาย มีผลให้ประชาชนอย่างน้อย 100,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย[38] สิ่งก่อสร้างเกือบทุกหลังในเมืองอันนาการิปาเลมได้รับความเสียหายรุนแรงหรือถูกทำลาย[39] นอกชายฝั่ง ชาวประมง 25 คนจมน้ำเสียชีวิตใกล้กับนครมาจิลิปัตนัม หลังจากเพิกเฉยคำเตือนให้กลับท่า[40] ทั่วทั้งรัฐอานธรประเทศมีผู้เสียชีวิต 69 คน และมูลค่าความเสียหายจากพายุ 410 ล้านรูปี (25.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[10][41] หลายเดือนหลังจากนั้น มีการสร้างที่พักคอนกรีตให้กับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย[39]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุไต้ฝุ่นเกย์ (พ.ศ. 2532) http://www.adrc.asia/countryreport/THA/THAeng98/in... http://articles.latimes.com/1989-11-09/news/mn-144... http://articles.latimes.com/1989-11-11/news/mn-100... http://adsabs.harvard.edu/abs/2003BAMS...84..635R http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcmaxim... http://www.wpc.ncep.noaa.gov/tropical/rain/tcrainf... http://www.imd.gov.in/section/nhac/static/cyclone-... http://nidm.gov.in/idmc2/PDF/Presentations/Cyclone... http://nellore.ap.nic.in/jccourt/Assignment/E5_331... http://www.thaiscience.info/Article%20for%20ThaiSc...